3 กุญแจ…สู่เทรนด์ระบบสุขภาพสมัยใหม่

07 ก.ค. 2566 | 22:26 น.

3 กุญแจ…สู่เทรนด์ระบบสุขภาพสมัยใหม่ คอลัมน์ Healthcare Insight โดย ธานี มณีนุตร์ [email protected]

เราจะสร้าง “ระบบสุขภาพ” ที่คนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ? ผมชวนทุกท่านทำความเข้าใจ 3 กุญแจ ที่จะนำไปสู่ “ระบบสุขภาพ” ในยุคสมัยใหม่ ที่ไม่ยึดติดกับข้อจำกัดด้านสถานที่ตั้งของสถานพยาบาล ระยะทางในการเดินทางมาเข้ารับการรักษา หรือแม้แต่ค่ารักษาพยาบาลที่ไม่สมเหตุสมผล ทั้งหมดนี้เป็นแรงขับทำให้ภาครัฐผู้กำหนดนโยบาย หรือแม้กระทั่งสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนเองต้องปรับตัวให้ทันกับการรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

หนึ่งในเทรนด์การให้บริการในระบบสุขภาพในยุคปัจจุบันมาจาก การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น การพบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ระบบการสั่งยาหรือปรึกษาเภสัชกรผ่านช่องทางออนไลน์ (Tele pharmacy) การส่งยาแบบเดลิเวอรี่ถึงหน้าประตูบ้านผู้ป่วย ฯลฯ ซึ่งในแง่ของเทคโนโลยีมีการพัฒนามาสักพักแล้ว และเริ่มมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาจำนวนบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ รวมไปถึงสถานการณ์การอุบัติของโรคเปลี่ยนไป

เช่น การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีการระบาดของโรคเป็นวงกว้าง โรงพยาบาลหรือคลินิกไม่มีศักยภาพรองรับได้อย่างเพียงพอ ด้วยจำนวนของบุคลากรทางการแพทย์ และข้อจำกัดของโรงพยาบาล ทำให้ต้องมีการจัดสรรการรักษาพยาบาลนอกสถานพยาบาล ซึ่งเห็นแล้วว่าเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบันมีความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงทำให้การรักษาพยาบาลไม่ได้จำกัดอยู่ในสถานพยาบาลนั้นอีกต่อไป เห็นได้จากกรณี การจัดการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยผ่านระบบ Home Isolation  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบสาธารณสุขของเรายังมีศักยภาพเพียงพอในการรองรับและดูแลผู้ป่วยในทุกมิติ

ขณะที่ปัจจุบันสถานพยาบาลหลายแห่ง มีการใช้ระบบการแพทย์ทางไกล ในการติดตามและให้คำแนะนำด้านการรักษาทางการแพทย์ในหลากหลายโรค รวมถึงยังมีการเชื่อมกับประกันสุขภาพ การจัดส่งยา ที่ครอบคลุมทั่วทั้งระบบความต้องการการเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุข (Ecosystem) ครบทุกด้าน ด้วยการเป็น “Virtual Hospital” ขนาดย่อม ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่การให้บริการการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการบริหารจัดการภายในสถานพยาบาลเอง เพื่อให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน

3 กุญแจ…สู่เทรนด์ระบบสุขภาพสมัยใหม่

ดังนั้น เมื่อการรักษาพยาบาลได้ผนวกกับระบบดิจิทัลในการเชื่อมต่อกับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น ก็สามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลาในการเดินทางเข้ารับการรักษา และยังนำไปสู่การพัฒนาด้านการรักษาพยาบาลที่ใช้ข้อมูลของผู้ป่วยเป็นสำคัญ หรือการแพทย์เฉพาะบุคคล (Personalized Medicine)

ในการที่จะไปถึงจุดนั้น กุญแจที่สำคัญต่อมา ที่ส่งผลต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละคน คือ “ค่ารักษาพยาบาลที่สมเหตุสมผล” ค่าใช้จ่ายด้านบริการสาธารณสุขในแต่ละประเทศหรือในแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์ ราคายาและเวชภัณฑ์ การแข่งขันตามกลไกตลาด หรือรูปแบบการดำเนินธุรกิจก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่จะนำไปสู่การกำหนดค่ารักษาพยาบาลที่แตกต่างกันออกไป

แต่โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้ค่ารักษาพยาบาลสมเหตุสมผล ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการให้บริการการรักษาพยาบาลที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เป็นโจทย์ใหญ่ที่จะต้องนั่งทบทวนกันในระยะยาว

และกุญแจที่สำคัญอย่างสุดท้าย คือ “การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ” ซึ่งเป็นหนึ่งในการดูแลที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย การสื่อสารระหว่างแพทย์และทีมการรักษา การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการรักษา เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงการรักษา เช่น Guideline ทางการแพทย์ในการการรักษาโรคเฉพาะทาง หรือโรคที่มีความซับซ้อน  ทำให้สะดวกและนำไปปรับใช้ในการค้นหาและวินิจฉัยโรคของผู้ป่วย เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดโรคและการดูแลสุขภาพอย่างก้าวหน้า

จะเห็นได้ว่า ระบบการดูแลสุขภาพสมัยใหม่ ล้วนแต่ต้องการระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านสุขภาพได้อย่างทันท่วงที ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นอุปกรณ์ Smart home หรือ Application ที่ใช้ในการช่วยผู้ป่วยบ่งชี้รอยโรคและวิธีการปฎิบัติตามคำแนะนำทางการแพทย์ และกำจัดปัจจัยที่ขัดขวางการรักษาได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้นก็เป็นได้

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,902 วันที่ 6 - 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2566